5 ปัญหาสำคัญของ ร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม
ร้านโชห่วยจะอยู่รอดได้อย่างไร ธุรกิจค้าปลีกทั่วโลกได้รับความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ด้วยเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น จนกระทั่งธุรกิจค้าปลีกในสหรัฐอเมริกาอย่าง วอลมาร์ท หนึ่งในรายใหญ่ของโลก ต้องลุกขึ้นมาปรับตัวตามเทรนด์เทคโนโลยี เพื่อมาแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซ เช่น อเมซอน แล้วร้านโชห่วยของบ้านเราจะรับผลกระทบอะไรบ้าง มาดูกันถึงห้าปัญหาหลักของร้านโชห่วยไทยในปัจจุบัน ปัญหาที่ร้านขายของชำเจอ ร้านโชห่วยยังไปต่อได้แต่ต้องปรับตัวให้ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค
1) ความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคจากออฟไลน์เป็นออนไลน์
โลกดิจิตอลส่งผลให้ไลฟ์สไตล์ของหลายคนเปลี่ยนแปลงไป ใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น เพราะสามารถทำงาน หาความบันเทิง สั่งอาหาร ซื้อของ จากบ้าน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ร้านค้าหาวิธีแบบใหม่เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเหล่านี้ อย่างเช่น สร้าง Facebook, Instagram หรือ Line เพื่อสื่อสารข่าวเกี่ยวกับร้าน โปรโหมดสินค้า และคอยสังเกตพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งเพิ่มช่องทางการขายให้กับร้านค้า แล้วช่วยเข้าถึงลูกค้าที่อยู่ไกล ผู้สูงวัยที่ไม่สะดวกออกจากบ้าน หรือคนวัยทำงานที่เร่งรีบ ให้มีช่องทางเลือกในการสั่งของล่วงหน้าและมารับหน้าร้าน หรือเรียกรถด้วยตัวเองมาส่งของถึงบ้าน
2) การแข่งขันจากร้านค้าปลีกในกลุ่มโมเดิร์นเทรด
ร้านสะดวกซื้อและไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นที่นิยมของคนรุ่นใหม่ ได้ดึงดูดลูกค้าจำนวนมาก ด้วยแอร์เย็นๆ สินค้าหลากหลาย ทั้งขนมปังเบเกอรี่ เครื่องดื่มเหมือนร้านคาเฟ่ และอาหารกล่อง ถึงแม้ว่าร้านโชห่วยไม่สามารถปรับตัวตามได้หมด แต่สามารถนำข้อดีบางอย่างของร้านค้าปลีกเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ เช่น การจัดร้านให้เป็นระเบียบ ดูแลเรื่องความสะอาด เพื่อให้ลูกค้าได้เดินและหาสินค้าได้สะดวก ตั้งกาน้ำร้อนให้ใช้ เป็นต้น ร้านโมเดิร์นเทรดจะเน้นตลาดใหญ่ ดังนั้นร้านโชห่วยอาจต้องพึ่งจุดแข็ง คือการเป็นกันเองและเข้าถึงคนในชุมชนอย่างลึกซึ้ง หรือนำสินค้าท้องถิ่นมาจำหน่ายในร้าน
3) ไม่มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ อย่างระบบ POS
ร้านโชห่วยแบบดั้งเดิมที่ไม่นำเทคโนโลยีใหม่มาประยุกต์ใช้ จะเสียเปรียบเรื่องการบริหารสต๊อกสินค้าและบัญชี เพราะวิถีที่เน้นการเขียน จด นับแต่ละชิ้น จะใช้เวลาและอาจเกิดความผิดพลาดได้ การนำเทคโนโลยีอย่าง ระบบ POS จะช่วยให้การคิดเงิน สรุปยอดเงิน เช็คสต็อคสิ้นค้าได้รวดเร็วและสะดวกมากขึ้น สามารถเช็คได้ว่าสินค้าตัวไหนที่ขายดีและควรสั่งเพิ่ม หรือสินค้าคงคลังที่จำนวนเยอะ จึงหลีกเลี่ยงการสั่งเพิ่ม หรือระวังสินค้าที่ใกล้หมดอายุ ดังนั้นการบริหารร้านค้าจะได้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
4) ขาดการตลาดในการช่วยเพิ่มยอดขาย
ร้านโชห่วยอาจต้องเพิ่มลูกเล่นเพื่อกระตุ้นยอดขายทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งจะดีถ้าแต่ละช่องทางชัดเจนและไปทางเดียวกัน ด้วย มีตัวอย่างดังนี้
-เขียนป้ายราคาให้ชัดเจนเพื่อความสะดวกของลูกค้า อาจระบุบเพิ่มว่าสินค้าตัวไหนมีราคาขายดีกว่าในท้องตลาด
-วางสินค้าที่น่าสนใจ ราคาเบาๆ ในจุดคิดเงิน เพื่อลูกค้าตัดสินใจซื้อก่อนออกจากร้าน
-ลดราคาสินค้าหนึ่งหรือบางชิ้นเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเดินเข้ามาในร้านหรือคลิ๊กทางออนไลน์ ซึ่งอาจจะซื้อสิ้นค้าตัวอื่นด้วย
-ลดราคาเมื่อซื้อในปริมาณมาก
-จับคู่สินค้าอย่างขนมและเครื่องดื่ม จะได้เพิ่มการหมุนเวียนของสินค้า
-ให้สะสมคะแนนหรือเป็นสมาชิกเพื่อเชิญชวนลูกค้าให้กลับมาซื้อซ้ำ เป็นลูกค้าประจำ
5) ไม่มีบริการอื่นๆ เข้ามาเสริม
ร้านค้าปลีกแบบใหม่ไม่ได้เน้นที่การขายของอย่างเดียว แต่ได้พัฒนาจนมีบริการหลากหลายแบบ เช่น มีตู้เอทีเอ็มตั้งไว้ รับการจ่ายค่าบิล รับการจองและซื้อตั๋ว เป็นต้น เพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาในร้าน แถมบางร้านมีโต๊ะให้ลูกค้ามานั่งกิน เชิญเพื่อนๆ มาตั้งวงคุยกัน ซึ่งร้านโชห่วยอาจพบข้อจำกัดด้วยงบประมาณที่มีไม่มากและมีพื้นที่เล็ก
การพัฒนาร้านค้าปลีกยุคใหม่
ความเปลี่ยนแปลงของโลกและการรับมือของร้านโชห่วยไทยถือว่าเป็นเรื่องท้าทาย แต่ก็เปิดโอกาสให้เติบโตได้เช่นกัน โดยอาจจะเริ่มด้วยการลองผิด ลองถูกเพื่อประสบความสำเร็จ